เคยไหมที่พนักงานคนเก่งของคุณสักคน ที่ดูแฮปปี้กับงานดี ทำงานได้ดีทุกอย่าง อยู่ๆก็มาลาออกเอาซะดื้อๆ พอได้พูดคุยกันก็พบว่าพนักงานคนนั้นหมดใจกับงานที่นี่ได้สักพักแล้ว สิ่งที่เรากล่าวมาคือภาวะที่เรียกว่า brownout syndrome นั่นเอง และที่น่ากลัวไปกว่านั้นคือภาวะ brownout นั้นถ้าพูดตรงๆนั้นรุนแรงกว่าอาการ burnout เอามากๆเลยทีเดียว (หากเพื่อนๆยังไม่รู้จักกับ burnout ลองอ่านได้ดูจากที่นี่) วันนี้ empeo จะพาทุกคนมาทำความเข้าใจกับภาวะนี้กันอย่างละเอียด
เมื่อพูดถึงภาวะ brownout แล้ว เราก็จะนึกถึงอาการอย่าง burnout ซึ่งภาวะพนักงานหมดไฟในการทำงานนั้นเป็นเรื่องที่ทุกองค์กรต้องเผชิญอยู่เสมอ เราจะเห็นภาพของพนักงานที่ไม่กระตือรืนร้นในการทำงาน อาการต่างๆนั้นจะแสดงออกมาอย่างเห็นได้ชัดเจนเพื่อนร่วมงานหรือคนรอบข้างสังเกตเห็นได้ทันที แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เกิดกับคนที่มีอาการ brownout
สัญญาณของอาการ brownout
อาการ brownout นั้นเป็นอะไรที่แตกต่างจาก burnout เอามากๆ และสังเกตเอาได้ยากมากๆเพราะเป็นเรื่องของจิตใจที่เกิดขึ้นภายใน คนที่มีอาการนี้การทำงานทุกอย่างยังคงดีเหมือนเดิม รับผิดชอบงานเช่นเดิม การประชุมเสนอไอเดียต่างๆยังทำได้อย่างแยบยล แต่สิ่งเดียวที่ต่างออกไปคือใจนั้นไม่อยู่กับองค์กรอีกต่อไป และอาการนี้เอาจริงๆแล้วมักจะเกิดกับกลุ่มคนระดับเก่งๆในองค์กร ทำให้องค์กรต้องสูญเสียพนักงานฝีมือดีออกไป อาการ brownout จึงมีผลร้ายต่อองค์กรมากกว่า burnout เยอะมากๆ ที่น่าสนใจคือเมื่อพนักงานกลุ่มนี้ตัดสินใจลาออกแล้วการจะรั้งพวกเขาไว้นั้นก็เป็นเรื่องที่เรียกได้ว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย
สัญญาณของอาการ brownout นั้นดูเหมือนจะมีแต่ผู้ที่เป็นเท่านั้นที่รู้ตัว เพราะพวกเขาจะเริ่มรู้สึกว่างานที่ทำอยู่นั้นไม่สนุกแบบที่เคยเป็น และรู้สึกว่าต้องทนกับอะไรบางอย่างที่พวกเขาไม่จำเป็นต้องทน ทำให้อาการค่อยๆสะสมมาทีละนิดๆ จนในที่สุดแสงสว่างในตัวพวกเขาก็มอดลงและดับไป และก็เป็นเวลาที่พวกเขาจะเริ่มหางานใหม่อย่างจริงจัง พูดง่ายๆก็คือร่างกายยังมีไฟในการทำงาน แต่ใจนั้นหมดไฟไปเรียบร้อยแล้วนั่นเอง
อะไรคือสาเหตุของอาการ brownout
แม้ว่าเราจะไม่รู้ว่าใครกำลังมีอาการนี้อยู่ก็ตาม แต่เรายังสามารถรู้ถึงสาเหตุของอาการ brownout ได้ และลองเทียบดูว่าองค์กรเรากำลังทำข้อใดข้อหนึ่งที่สุ่มเสี่ยงทำให้พนักงานมีอาการนี้อยู่หรือเปล่า
1.เงื่อนไขในการทำงานเยอะ จุกจิกเกินไป
หลายต่อหลายครั้งที่คนเก่งในที่ทำงานต้องได้รับผลกระทบจากกฏระเบียบบางอย่างของบริษัทที่ต้องการออกมาเพื่อควบคุมพฤติกรรมของคนหมู่มาก ทำให้คนเก่งหลายๆครั้งรู้สึกว่าองค์กรควบคุมมากเกินไป จนขาดอิสระในการทำงาน และในที่สุดก็ส่งผลให้พวกเขาเบื่อหน่ายในองค์กร
2.งานกินเวลามากเกินไป
การที่บริษัทหรือองค์กรไม่มีการจัดสรรเวลาที่ดี ทำให้ตัวพนักงานเกิดความเหนื่อยล้าสะสม ถ้าหากเป็นครั้งคราวก็ยังไม่เท่าไรเพราะเมื่อพักผ่อนก็ยังหาย แต่หากเป็นการทำงานจนรู้สึกไม่มีเวลาพักผ่อนเลย ยิ่งโดยเฉพาะกับคนเก่งในองค์กรที่ต้องเข้าไปช่วยในหลายๆส่วนงาน มีงานที่ต้องทำอยู่เยอะแยะไปหมด ความกดดันนี้เองที่ทำให้อาการ brownout เกิดได้ง่ายมากขึ้น
3.ไม่เห็นค่าของคนทำงาน
บ่อยครั้งเราสามารถทำผลงานที่สำเร็จได้ตลอด แต่กลับถูกหัวหน้าหรือองค์กรมองข้ามไป การไม่ตระหนักและชื่นชมพนักงานนั้นจะทำให้พนักงานรู้สึกว่าไม่มีคุณค่า และเกิดอาการหมดใจได้ง่ายๆ ยิ่งโดยเฉพาะหากองค์กรตอบแทนพนักงานในลักษณะที่ให้ผลตอบแทนเท่ากันหมด คนเก่งก็จะรู้สึกว่าไม่รู้จะทำดีไปทำไม เพราะผลลัพธ์ที่ออกมาก็ได้เท่ากันอยู่ดี แต่ครั้นจะให้ลดมาตรฐานงานตัวเองก็ทำไม่ได้ สุดท้ายการตัดสินใจลาออกจึงเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุดที่พวกเขาเลือกแทน
4.พนักงานไม่รู้เป้าหมายหรือมิชชั่น
ในปัจจุบันยังมีพนักงานจำนวนมากที่ต้องทำงานตามสั่ง กล่าวคือได้รับงานมา ก็ทำให้จบและรับงานใหม่ต่อไป แต่สุดท้ายพนักงานกลับไม่รู้เลยว่าต้องทำไปเพื่ออะไร และงานที่พวกเขาทำนั้นมีส่วนช่วยองค์กรอย่างไร ซึ่งคนเก่งจำนวนมากไม่ได้ต้องการแค่ทำงานให้จบ แต่ต้องการทำงานที่พวกเขารู้สึกว่ามีคุณค่าด้วย ดังนั้นแล้วเป้าหมายจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมากๆ
5.ไม่มีความท้าทาย
งานที่ดีคืองานที่ท้าทาย ยิ่งโดยเฉพาะกับพนักงานระดับท๊อปที่ไม่ได้ชื่นชอบงานที่ง่ายดาย และต้องการวัดความสามารถตัวเองอยู่ตลอดเวลา เมื่อเจองานที่ไม่มีความหมายบ่อยครั้งเข้า ก็จะเกิดเป็นความน่าเบื่อจำเจเข้ามาแทนที่ และการทำงานก็ไม่สนุกอีกต่อไป
จะเห็นได้เลยว่าภาวะ brownout นั้นเป็นอะไรที่น่ากลัวมากๆสำหรับองค์กร เพราะมักเกิดกับพนักงานที่เก่ง ในขณะที่พนักงานที่เก่งนั้นกลับแก้ปัญหานี้ได้ง่ายดายมากโดยการหางานใหม่ ดังนั้นแล้วบริษัทจึงควรเริ่มให้ความสนใจและทำให้มั่นใจว่าอย่างน้อยในฝั่งองค์กรเองได้ทำให้สิ่งแวดล้อมต่างๆเหล่านี้ไม่ช่วยส่งเสริมภาวะ brownout ในองค์กร
ติดตามเกร็ดความรู้ดี ๆ เกี่ยวกับ HR และการพัฒนาองค์กรได้ที่
Blog: www.empeo.com/blog
Facebook: www.facebook.com/myempeo
Youtube: www.youtube.com/empeo