Turnover rate

Turnover rate เป็นตัวเลขที่มีความสำคัญมาก ๆ กับองค์กรในทุก ๆ มิติเลยก็ว่าได้ แถมยังช่วยบ่งบอกว่าพนักงานมีความสุขกับบริษัทมากน้อยแค่ไหน ดังนั้นแล้ว metric นี้จึงเป็น metric ที่ HR ให้ความสำคัญมาก ๆ และถ้าบริษัทไหน ๆ ก็ตามมี turnover rate ที่สูงแล้วล่ะก็ HR ก็จะมีเรื่องน่าปวดหัวตามมามาก ๆ เลยทีเดียว และต้องโฟกัสในเรื่องของการทำให้ employee experience กลับมาเป็นบวกให้ได้ ในบทความนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับ metric นี้แบบละเอียด พร้อมชี้ให้เห็นถึงเหตุผลที่ทำให้พนักงานไม่อยากอยู่ต่อ

Turnover rate คืออะไร?

Turnover rate ถ้าตามนิยามก็คืออัตราการลาออกของพนักงาน โดยการติดตามเจ้า metric นี้อย่างเสมอจะช่วยให้เรารู้ว่าในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ นั้นคนจำนวนเท่าไรที่ออกจากบริษัทและด้วยเหตุผลอะไร โดยทั่วไปแล้วการออกจากบริษัทนั้นเกิดได้ 2 แบบด้วยกันคือการออกแบบสมัครใจโดยเป็นการออกที่พนักงานต้องการออกเอง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลเช่น ได้งานใหม่ ศึกษาต่อ หรืออื่น ๆ ก็ตามแต่ และอีกประเภทคือการให้ออกจากงาน ซึ่งจะเป็นกลุ่มที่มีปัญหาเรื่องของ performance หรือพฤติกรรมบางอย่าง

ทำไม Turnover rate ที่สูงถึงแย่?

โดยทั่วไปแล้วอัตราลาออกที่สูงกว่า 20% นั้นจะเริ่มเป็นตัวบ่งชี้ว่าองค์กรกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาอะไรบางอย่างอยู่ ยิ่งโดยเฉพาะหาก 2 ใน 3 นั้นมาจากการลาออกแบบสมัครใจเอง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นตัวเลข 20% ที่บอกนั้นเป็นเพียงตัวเลขอ้างอิงคร่าว ๆ ในบางอุตสาหกรรมหรือบางประเภทงานอาจจะมีอัตราที่สูงกว่านี้ได้ พูดถึงเรื่องอัตราการลาออกแบบสมัครใจที่สูงนั้น ในสายงาน HR จะมองว่าเป็นตัวเลขที่ไม่ต้องการให้เกิดขึ้น เพราะถ้าตัวเลขนี้สูงหมายความว่าเรากำลังเสียบุคลากรที่ดีออกไป และบางครั้งเป็นการเสียให้กับคู่แข่งด้วย โดยมากนั้นก็มักจะมาจากสาเหตุของค่าตอบแทน career path และ culture รวมถึง management ที่ไม่ดี

สำหรับอัตราการให้ออกจากงานแบบไม่สมัครใจที่สูงนั้นก็ไม่ได้ดีเช่นเดียวกัน แม้ว่าการให้ออกเพราะทำผลงานไม่ได้จะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่การที่มีอัตรส่วนนี้สูงหมายความว่าเราจ้างคนผิดเข้ามาแต่แรก และคนที่ไม่เหมาะกับองค์กรนั้นจะส่งผลหลาย ๆ อย่างด้วยกันทั้ง productivity และเรื่องของเวลาต่าง ๆ

อะไรทำให้พนักงานเลือกที่จะลาออก?

1. ผลตอบแทนที่น้อย

ผลตอบแทนคือสิ่งแรก ๆ ที่พนักงานให้ความสำคัญ และเอามาใช้พิจารณาในการอยู่ต่อหรือไม่ การที่บริษัทให้ผลตอบแทนที่ดีจะช่วยให้การ retention พนักงานได้ง่ายขึ้น เพราะเป็นการทำให้เห็นว่าพนักงานนั้นมีคุณค่าต่อองค์กร และทำให้บริษัทอื่น ๆ ยากที่จะดึงตัวไปด้วยจำนวนเงินที่มากกว่า ดังนั้นแล้วผลตอบแทนที่น้อยจึงเป็นผลทำให้พนักงานเริ่มเกิดความรู้สึกหมดใจและมองหาโอกาสใหม่ ๆ และโดยมากสำหรับพนักงานที่มีสกิลก็มักจะทำได้สำเร็จตามนั้น ส่งผลให้คุณต้องเสียพนักงานดี ๆ ไปแบบเลี่ยงไม่ได้

2. Management แย่ ๆ

พนักงานจำนวนมากให้เหตุผลในการลาออกคือเรื่องของ toxic boss ที่ค่อย ๆ บ่อนทำลายองค์กรไปเรื่อย ๆ ทีม management ที่แย่จะทำให้เกิดสภาพแวดล้อมการทำงานที่ไม่สร้างสรรค์ พนักงานจะรู้สึกถึงความเครียดในการทำงาน นอกจากนี้ทีม management ยังเป็นส่วนหลัก ๆ ที่จะนำพา culture ขององค์กร หากมีทีมหัวหน้าที่มุ่งเน้นในเรื่องการเลือกที่รักมักที่ชัง การไม่ให้เครดิตคนทำงาน พนักงานย่อมรู้สึกแย่ และเมื่อเกิดหลายครั้งเข้าคนทำงานก็ไม่มีความจำเป็นต้องทนอีกต่อไป

3.งานที่ไม่เหมาะสม

หลายครั้งพนักงานเองเกิดอาการ burnout จากการที่บริษัทคาดหวังให้พนักงานทำงานใน role ที่ไม่เหมาะสม หรือต้องทำงานในสภาพที่สิ่งต่าง ๆ ไม่เอื้ออำนวย เช่นขาดข้อมูล ขาดเครื่องมือที่จะใช้ และเมื่อพนักงานรู้สึกไม่ได้รับการ support ที่เพียงพอ เค้าก็จะรู้สึกว่าตัวเองไม่สามารถควบคุมสิ่งต่าง ๆ ได้ ส่งผลให้การทำงานมีความสุขน้อยลงมาก จนเกิดการ burnout

4.ไม่ได้รับโอกาส ไม่มี growth

อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญมาก ๆ เลยคือการที่ไม่ได้รับโอกาสในที่ทำงาน ไม่ว่าคุณจะทำงานดีแค่ไหน แต่หากไม่เห็นอนาคตในบริษัทที่ทำอยู่ปัจจุบัน คนทำงานในยุคปัจจุบันที่เข้าถึงตำแหน่งงานต่าง ๆ ได้ง่ายมากกว่าก็ย่อมมองหาทางเลือกที่จะช่วยให้เค้าเติบโต

แน่นอนว่า turnover rate นั้นแม้จะมีความสำคัญมาก ๆ แต่ก็ไม่ควรจะใช้มาตรวัดตัวนี้อย่างเดียวในการตัดสินใจทำสิ่งต่าง ๆ ในด้านคน การใช้งาน metric นี้ร่วมกับข้อมูลอื่น ๆ ถ้าคุณเริ่มสงสัยว่าเพราะวัฒนธรรมองค์กรของคุณรึเปล่าที่ทำให้อัตราลาออกของพนักงานสูงมาก ๆ ในฐานะ HR อาจจะต้องเริ่มย้อนกลับมาดูว่าทีม management มีการสื่อสารกับพนักงานดีแค่ไหน และสิ่งที่กำลังทำอยู่นั้นได้ส่งเสริมให้คนในบริษัททำงานได้อย่างมีความสุขและได้โชว์ศักยภาพเต็มที่

ติดตามเกร็ดความรู้ดี ๆ เกี่ยวกับ HR และการพัฒนาองค์กรได้ที่
Blog:    www.empeo.com/blog 
Facebook:    www.facebook.com/myempeo
Youtube:   www.youtube.com/empeo


Tags

Turnover rate, พนักงานหมดใจ


You may also like

>