How HR can help about employee mental health

สุขภาพจิตพนักงานมักจะเป็นสิ่งหนึ่งที่ถูกมองข้ามไปในการทำงาน ถ้าหากเป็นอาการเจ็บป่วยโดยทั่วๆไปแล้ว เราก็จะสังเกตเห็นอาการได้ และรู้ทันทีในยามที่เราหายดี แต่พอเป็นเรื่องสุขภาพจิตแล้วโดยมากมักไม่มีใครสังเกตเมื่อมีอะไรผิดแปลกไป และยิ่งไปกว่านั้นพอเป็นเรื่องของ mental health แล้วหลายๆคนยังมีความเข้าใจน้อยมากๆ และไม่ได้ใส่ใจกับเรื่องนี้เท่าที่ควร จะมีพนักงานสักกี่คนที่มองว่าปัญหาสุขภาพจิตนั้นเป็นเหมือนกับอาการเจ็บป่วยอย่างนึง ซึ่งต้องใช้เวลาในการรักษาเช่นเดียวกัน คำตอบคงเป็นไม่มากสักเท่าไร

แน่นอนว่าสำหรับ HR นั้นเรื่องของการเจ็บป่วยของพนักงานนั้นย่อมส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงานโดยตรง ถ้าเป็นการเจ็บป่วยธรรมดา แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่เหนือความควบคุมของเรา แต่สุดท้ายแล้วเมื่อพนักงานหายดีก็จะกลับมาทำงานได้ตามปกติ แต่สำหรับในกรณีของปัญหาสุขภาพจิตนั้นกลับไม่ง่ายเช่นนั้น เริ่มตั้งแต่การสังเกตและรับรู้ถึงอาการที่เกิดขึ้น ไปจนถึงการรักษาที่ต้องใช้ความเข้าใจและเวลา จะเห็นได้ว่าเป็นขั้นตอนที่ยากลำบากกว่าการเจ็บป่วยธรรมดามากๆ

และจากสถิติในปัจจุบันพบว่าคนทำงานก็มีอาการเจ็บป่วยที่ส่งผลทางจิตใจมากขึ้นกว่าเดิมมากๆ ความเครียดที่เกิดจากการทำงาน ความรู้สึกไม่มั่นคงในอาชีพการงาน ปริมาณงานที่ถาโถมเข้ามา และการมาของ wfh ที่ทำให้คนเราเริ่มแบ่งแยกเวลาส่วนตัวกับเวลาทำงานไม่ออก ล้วนแต่เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ความเครียดของพนักงานเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นแล้วสำหรับ HR เองก็สามารถช่วยดูแลในเรื่องสุขภาพจิตใจของพนักงานได้ในหลายๆส่วน แม้จะมีปัจจัยส่วนตัวที่ก่อความเครียดให้กับพนักงาน แต่ด้วยการจัดการสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีก็จะช่วยแบ่งเบาความเครียดจากที่ทำงานออกไปได้

และเมื่อใดที่บริษัทของคุณทำได้ดังที่กล่าวมา นอกจากคุณจะได้พนักงานที่มีสุขภาพแข็งแรง พร้อมลุยงานแล้ว ผลลัพธ์ประสิทธิภาพในการทำงานก็จะเพิ่มขึ้นมากอีกด้วย

แล้ว HR อย่างเราจะช่วยได้อย่างไร?

อย่างแรกต้องทำความเข้าใจว่าในช่วงเวลาของ Covid-19 ทำให้ความเครียดหลายๆอย่างก่อตัวขึ้นมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจการเงินต่างๆ ทุกสิ่งล้วนแต่คาดเดาไม่ได้ แต่ในฐานะของฝ่ายบุคคลแล้วยังมีหลายสิ่งที่คุณสามารถช่วยบรรเทาลงได้ และสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับการทำงานได้เช่นกัน

1.ส่งเสริมเรื่องการพูดคุยกันให้มากขึ้น

มนุษย์เราเป็นสัตว์สังคมและแน่นอนว่าคุณเองก็คงจะรู้สึกดีไม่น้อย เมื่อมีใครพูดคุยกับคุณและถามคำถามต่างๆนอกเหนือไปจากเรื่องงานบ้าง  ลองจัด session เบาๆที่ไม่เกี่ยวกับกับเรื่องงานอย่างน้อยเดือนละครั้ง หรือถ้าให้ดีอาจจะจัดที่ความถี่มากกว่านั้น โดยอาจจะเป็นการแชร์กันในเนื้อหาเบาๆที่เข้าถึงกันได้ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเป้าหมายและความฝันนอกเหนือจากการทำงาน งานอดิเรกที่ชอบทำ หรือเรื่องอื่นๆที่อยากเปิดใจคุยกัน

2.ให้ความสำคัญกับ work-life balance

ในบทความก่อนหน้าเรามีพูดถึงในเรื่องของ work-life balance การที่พนักงานรู้สึกว่าสมดุลในการใช้ชีวิตส่วนตัวกับชีวิตการทำงานไม่ดีเพียงพอจะเกิดปัญหาต่างๆมากมายตามมา และที่สำคัญก็คือเรื่องของสุขภาพจิตพนักงาน ดังนั้นแล้ว HR เองสามารถทำให้ work-life balance ต่างๆดีขึ้นได้ด้วยการช่วยเหลือใน policy ต่างๆนั่นเอง

3.สื่อสารเรื่องต่างๆให้มากขึ้น ทำตัวให้เข้าถึงง่าย

หลายต่อหลายครั้งที่ฝ่ายบุคคลอาจจะยุ่งจนลืมให้ความใส่ใจกับเรื่องเล็กๆน้อยๆของพนักงานไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิ์ต่างๆของพนักงาน หรือการขอเอกสารที่เกี่ยวข้อง จนพนักงานรู้สึกว่า HR เป็นแผนกที่เข้าถึงได้ยาก และการแชร์เรื่องต่างๆที่พนักงานรู้สึกแย่กับที่ทำงานก็กลายเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ดังนั้นแล้วลองใช้วิธีในการเป็นผู้ฟังที่ดี ให้รู้ว่าคุณเป็นคนที่พวกเขาสามารถเข้ามาปรึกษาได้ และถ้าหากองค์กรมีการปรับเปลี่ยนหรืออัปเดตอะไรก็อย่าลืมสื่อสารเรื่องต่างๆที่เกี่ยวข้องกับพนักงานให้ไว และพนักงานจะรู้สึกได้ว่าบริษัทนี้ให้ความใส่ใจในตัวพวกเขานั่นเอง

4.เข้าใจให้มากขึ้น และยืดหยุ่นปรับเปลี่ยนได้

แน่นอนว่าบริษัทนั้นย่อมมีกฎในการทำงานและอยู่ร่วมกัน แม้ว่า HR จะต้องคอยดูแลพนักงานให้อยู่ในกรอบ แต่คุณก็สามารถที่จะใส่ความเป็นเพื่อน ความเข้าใจต่างๆไปพร้อมๆกับการทำตามกฎได้ ในบางสถานการณ์ที่ต้องอาศัยความยืดหยุ่นคุณก็ควรที่จะปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม และหากพนักงานคนใดกำลังต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิตแล้วล่ะก็ คุณในฐานะ HR ก็ควรที่จะทำความเข้าใจ และทำให้แน่ใจว่าในที่ทำงานจะไม่มีใครที่พูดถึงเรื่องพวกเขาในทางที่แย่ๆ และอาจจะช่วยในเรื่องของโปรแกรมความช่วยเหลือที่ช่วยให้พนักงานผ่านพ้นเรื่องนี้ไปได้ เห็นไหมครับว่าฝ่ายบุคคลนั้นทำอะไรได้เยอะกว่าที่คิดจริงๆ

5.Work from home ไม่ใช่แค่ทำงานที่บ้านแล้วจบ

แต่การ work from home ที่ดีนั้นนอกจากควรจะต้องมีการแบ่งเวลาให้ถูกต้องแน่นอน ยังมีเรื่องอื่นๆที่ควรให้ความสำคัญไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเวลาเข้าออกงาน ความคาดหวัง เป้าหมายที่มีร่วมกัน การที่ฝ่ายบุคคลมีการทำให้ทุกคนในองค์กรรับทราบถึงสิ่งต่างๆเหล่านี้จะช่วยให้พนักงานรู้สึกว่าการ work from home ไม่ใช่การทำงานทุกเมื่อ ด้วยการจัดการที่ดีจะทำให้ประสิทธิภาพของการทำงานนั้นเพิ่มขึ้น และพนักงานรู้สึกผูกพันมากกว่าการที่ต้อง work from home แบบไม่มีการสื่อสารที่ดีเพียงพอ

จะเห็นได้เลยว่าปัจจุบันนั้นในเรื่องสุขภาพจิตพนักงานก็เป็นสิ่งที่คุณในฐานะของผู้จัดการฝ่าย HR ควรจะให้ความสำคัญมากๆ เพราะสุดท้ายแล้วบริษัทนั้นจะเติบโตได้มากน้อยเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับว่าพนักงานของคุณนั้นมีความสุขในการทำงานกับองค์กรเราหรือไม่นั่นเอง

ติดตามเกร็ดความรู้ดีๆ เกี่ยวกับ HR และการพัฒนาองค์กรได้ที่
Blog:       www.myempeo.com/blog 
Facebook:    www.facebook.com/myempeo
Youtube:     www.youtube.com/empeo


Tags

mental health, สุขภาพจิตพนักงาน


You may also like

>