probation evaluation

Probation หรือช่วงทดลองงาน สำหรับพนักงานแล้วสิ่งที่จดจ่ออย่างเดียวก็คงจะเป็นการอยากที่จะได้ยินว่าผ่านการประเมินงาน แล้ว task งานสำหรับ HR หรือหัวหน้าที่ต้องประเมินงานล่ะคงไม่ใช่เรื่องง่ายแน่ๆ ยิ่งโดยเฉพาะกับพนักงานที่มีประสิทธิภาพระดับกลางก็ทำให้การประเมินยิ่งยากขึ้นไปอีก และบ่อยครั้งที่เวลา แรงงาน ความพยายามต่างๆได้ถูกใช้กับการประเมินไปอย่างสูญเปล่า แล้วการประเมิน probation ให้มีประสิทธิภาพแท้จริงแล้วมีแนวทางอย่างไรกันแน่

Probation คำที่คนทำงานทุกคนต้องเจอ

แม้ว่าทางฝ่ายบุคคลจะมีระบบสรรหาพนักงานที่ดีเพียงใด แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนที่ผ่านการคัดเลือกเข้ามาจะสามารถปฏิบัติงานได้อย่างดีเยี่ยม นั่นจึงเป็นที่มาว่าทำไม เมื่อครบกำหนด 90-120 วันแล้วจึงต้องมีการประเมินโปรกันนั่นเอง โดยมากแล้วการประเมินผ่านโปรมักจะไม่ยากเท่าไรเพราะว่าได้มีการคลุกคลีทำงานร่วมกันมาอย่างน้อยก็ 3 เดือนแล้ว อย่างไรก็ตามฝ่ายบุคคลก็ยังมีหน้าที่ช่วยทำให้การประเมิน probation ราบรื่นและเกิดประสิทธิภาพที่สุด

1.กำหนดความถี่ในการประเมิน

พนักงานของคุณไม่จำเป็นที่จะต้องรู้ว่าตัวเองขาดตกบกพร่องอะไรไป แค่จากตอนการประเมินพ้นโปรเพียงครั้งเดียว ในฐานะ HR คุณอาจมีส่วนช่วยในการผลักดันให้มีการประเมินที่มากขึ้น ทางที่ดีอาจจะกำหนดที่ระยะ 45 วัน และประเมินอีกทีที่ 90 วันในช่วงประเมินโปรเลยก็ได้เช่นกัน คุณอาจจะรู้สึกว่าอันที่จริงแล้วในการทำงานหัวหน้าก็มีการให้ feedback อยู่เป็นประจำ แต่นั่นยังไม่เป็นทางการเพียงพอ การที่มีการประเมินอย่างเป็นทางการจะช่วยให้พนักงานรู้ว่าแท้จริงแล้วประสิทธิภาพของตนเองเป็นเช่นไร และมีแนวโน้มมากน้อยแค่ไหนที่จะผ่านโปร และหากแนวโน้มออกมาไม่ค่อยดีแล้วนั้นตัวพนักงานเองก็ยังมีเวลาในการปรับปรุงแก้ไข ในขณะที่หัวหน้างานก็ได้ถือโอกาสทบทวนการทำงานของพนักงานคนนั้นๆอย่างจริงจัง

2.คำนึงถึงแง่มุมอื่นด้วยในการประเมิน

บ่อยครั้งที่การประเมินผ่านโปรมักจะถูกวัดผลลัพธ์อยู่ในแง่ของประสิทธิภาพเพียงอย่างเดียว ทำให้ประเด็นอื่นๆที่มีผลต่อการทำงานถูกมองข้ามไป ดังนั้นแล้วลองดูในเรื่องของทัศนคติที่มีต่องานที่ได้รับ การทำงานแบบ team player รวมไปถึงในเรื่องปฏิสัมพันธ์ต่างๆกับเพื่อนร่วมงาน ทั้งหมดทั้งมวลนี้ล้วนเป็นปัจจัยที่จะส่งผลให้ทำงานได้ดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตามแม้ว่าปัจจัยอื่นๆที่กล่าวมาจะมีความสำคัญ แต่สุดท้ายสิ่งที่สำคัญที่สุดก็ยังเป็นเรื่องประสิทธิภาพในการทำงานอยู่ดี

3.Culture fit

การที่คนๆนึงจะทำงานได้อย่างเยี่ยมยอด คนๆนั้นต้องเข้ากับวัฒนธรรมขององค์กรนั้นๆได้ด้วย หากเป็นเพียงแค่การทำงานแบบให้จบไปวันๆ ไม่ได้มีความสุขกับวัฒนธรรมองค์กรแล้วล่ะก็ ในระยะยาวถึงแม้ว่าจะผ่านการประเมิน probation ไปได้แต่สุดท้ายพนักงานคนนั้นก็จะมีประสิทธิภาพที่ดรอปลงอย่างแน่นอน ในระหว่างที่ต้องประเมินผ่านโปร ลองประเมินดูด้วยว่าพนักงานคนนั้น เข้าใจในแนวทางการทำงานขององค์กรมากน้อยแค่ไหน มีความเข้าใจในมิชชั่นขององค์กรอยู่หรือไม่ พนักงานที่อินกับทิศทางที่องค์กรกำลังมุ่งหน้าไป มีแนวโน้มว่าจะเติบโตได้มากกว่า

4.เก็บผลลัพธ์ในเคสแย่ๆด้วย

ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่เรามักจะเก็บข้อมูลแต่คนที่ผ่านการทดลองงาน อันที่จริงแล้วแม้แต่ feedback แย่ๆที่เราได้รับจากพนักงานที่ไม่ผ่านโปรก็ควรจะถูกจัดเก็บบันทึกไว้ใช้ต่อด้วย และถ้าจะให้ดี HR manager ควรจะอยู่ด้วยในระหว่างการรับฟัง feedback จากพนักงานที่ได้รับการประเมิน probation ทุกคน นอกจากจะทำให้เข้าใจในเรื่องของพนักงานมากขึ้นแล้ว ยังทำให้อาจจะเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับองค์กรระหว่างการประเมินด้วยก็เป็นได้ ซึ่งการได้รับข้อมูลต่างๆอย่างครบถ้วนจะช่วยให้ได้ insight อย่างแน่นอน

5.HR คุยกับหัวหน้างานอย่างเป็นประจำ

การจ้างงานและประเมินงานเป็นโปรเซสที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องกัน ดังนั้นแล้ว HR จึงควรที่จะมีการพุดคุยอัปเดตเรื่องเกี่ยวกับพนักงานที่ onboarding เข้ามาเริ่มงานตั้งแต่วันแรกจนถึงวันที่ต้องประเมินโปรเลยทีเดียว และคำถามที่ดีที่ HR และหัวหน้างานสามารถช่วยกันคิดได้และจะช่วยให้การประเมินมีความเป็นมืออาชีพมากขึ้นคือ คุณจะต้องทำอะไรบ้างเพื่อให้พนักงานคนนี้ได้ไปต่อ มากกว่าแค่การสอบถามว่าคุณรู้สึกอย่างไรกับพนักงานคนนี้  ด้วยคำถามเชิงบวกเช่นนี้เราจะเข้าถึงแก่นที่แท้จริงของการประเมินนั่นเอง

ติดตามเกร็ดความรู้ดี ๆ เกี่ยวกับ HR และการพัฒนาองค์กรได้ที่
Blog:    www.empeo.com/blog 
Facebook:    www.facebook.com/myempeo
Youtube:   www.youtube.com/empeo


Tags

probation, probation evaluation, ประเมิน probation, ประเมินผ่านโปร


You may also like

>